FIBARO: ใช้ง่าย ล้ำและลึก

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินสมาร์ทโฮมค่าย FIBARO และบางคนก็อาจใช้งานอยู่ เพราะ FIBARO ครองตลาดสมาร์ทโฮมระดับ Hi-end ของไทยมายาวนาน
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก บทความนี้ขอแนะนำให้รู้จักผลิตภัณฑ์ของ FIBARO จากมุมมองของคนบ้าสมาร์ทโฮมคนนึงที่จะขอเล่าถึงจุดเด่นและจุดด้อยที่รู้สึกได้จากประสบการณ์การส่วนตัวที่ใช้สมาร์ทโฮมมา
[จุดเด่นของ FIBARO]
<1. ใช้สัญญาณ Z-Wave>
-คนทำสมาร์ทโฮมคงรู้จักสัญญาณ Zigbee กับ Wifi กันดีแต่ 2 สัญญาณนี้ต่างก็ใช้ความถี่ 2.4 GHz เหมือนกันซึ่งมีข้อควรระวังมากมายในการใช้งานเพื่อไม่ให้สัญญาณรบกวนกัน
.
แต่ Z-Wave เป็นอีกสัญญาณที่นิยมใช้ในสมาร์ทโฮมมีจุดเด่นคล้าย Zigbee หลายอย่างทั้งใช้พลังงานต่ำ ตอบสนองเร็วและสร้าง mesh network แต่ Z-Wave ในไทยใช้คลื่นช่วง 920.0-925.0 MHz ที่แยกจากคลื่นยอดนิยมอย่าง 2.4 GHz ทำให้การสื่อสารมีความเสถียรกว่า ไม่ถูกรบกวนได้ง่าย
.
<2. จัดเต็มมากับทุกอุปกรณ์>
-เคยเบื่อกับการต้องเลือกอุปกรณ์สมาร์ทโฮมมั้ยครับ เลือกค่ายไปแล้วยังต้องเลือกของอีก ซื้อมาก็ผิดหวังอีกเพราะฟังก์ชั่นไม่ตรงใจ
.
ทุกอุปกรณ์ของ FIBARO ล้วนแต่ถูกสร้างมาแบบจัดเต็มทุกฟีเจอร์ที่อุปกรณ์ชนิดนั้นจะมีได้ สิ่งที่รู้สึกจากที่ได้ลองใช้คือหากเราสงสัยว่าอุปกรณ์มันทำแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้เหรอ? ให้เข้าไปดูพารามิเตอร์ต่างๆ ของอุปกรณ์ซึ่งมีเยอะมาก เราสามารถเปลี่ยนได้อิสระ
.
อย่างเช่นค่าที่โดยทั่วไปน่าจะเป็นค่าที่โรงงานตั้ง เราก็สามารถเข้าไปเปลี่ยนได้เช่น ถ้าตัวแม่กับลูกของ Door sensor ชิดกันจะให้แสดงค่าว่า “เปิด” (แทนที่จะเป็นปิด) ก็ได้ กรณีนี้อาจใช้กับประตูที่มีโช้คอัพที่ต้องเปิดถึงตำแหน่งหนึ่งเช่น 90 องศาเท่านั้น (เซนเซอร์ชิดกันตรงนั้น) ถึงจะถือเป็นสถานะเปิดค้างได้
❤. PIR Motion sensor: รอบตรวจจับ 0.5sec>
-เซนเซอร์จับความเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่เฉพาะหน้าตาที่ดูน่าเกรงขาม แสงกระพริบดูราวกับตาของผู้พิทักษ์ความปลอดภัย (รูปที่ 2) แต่ภายในยังล้นไปด้วยความสามารถ
.
3.1 ฝังเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและแสง
ที่ไหนมี PIR ที่นั่นคือจุดที่ละเอียดอ่อน เมื่อวัดอุณหภูมิกับแสงได้ เงื่อนไขในการตั้งค่าจะมีอิสระมากขึ้นเช่น การตั้งเงื่อนไขปิดไฟหลังไม่พบคนนั้นอาจวัดจากความเคลื่อนไหว + อุณหภูมิได้ เช่น ห้องนอนบางบ้านที่เปิดแอร์เสมอเมื่อมีคนแต่นอนนิ่งๆ ก็เท่ากับไม่มีความเคลื่อนไหว (ไฟจะดับได้ถ้าตั้งค่าแบบทั่วๆไป)
3.2 รอบตรวจจับ
ปัญหารอบเวลาการตรวจจับนานเกินไป (เช่น 60 วินาที) ที่พบได้ในค่ายอื่น ไม่ใช่ปัญหาของ FIBARO PIR เราสามารถเปลี่ยนได้ตั้งแต่ 0.5 – 8 วินาทีได้ในหัวข้อพารามิเตอร์พื้นฐาน ยิ่งจับละเอียดยิ่งลดความผิดพลาดของงานออโตเมชั่นได้เยอะเลย
.
3.3 อื่นๆ
แน่นอนว่าค่า sensitivity ก็เปลี่ยนได้ ลงลึกถึงจำนวนครั้งการเคลื่อนไหวที่จะถือว่านี่คือการเคลื่อนไหว การชดเชยค่าอุณหภูมิก็ทำได้ ค่าเว้นระยะการวัดและรายงานอุณหภูมิ/แสงก็สามารถปรับได้ เป็นต้น
.
<4. สวิตช์ไฟ: โมดูลเล็กมาก>
-สวิตช์ไฟของ FIBARO อยู่ในรูปแบบโมดูลฝังหลังสวิตช์ซึ่งมีข้อดีคือเราเลือกหน้ากากสวิตช์ได้เองอิสระไม่ต้องถูกจำกัดด้านดีไซน์ (โดยส่วนตัวชอบแบบนี้) แต่ที่ทำให้ทึ่งคือ
.
4.1 โมดูลเล็กมาก
เทียบกับค่ายอื่น (รูปที่ 6) ถือว่าเล็กเลยทีเดียว รูปร่างด้านหลังโค้งบีบลงอีกทำให้ติดตั้งในบล็อกสวิตช์แคบๆ บ้านเราได้ง่ายกว่า น่าจะแก้ปัญหาบล็อกสวิตช์เล็กให้กับหลายบ้านได้เลย
.
4.2 ใช้เป็นโมดูลเต้ารับ
ในเว็บ Official ก็ระบุไว้ว่าสามารถใช้เป็นเต้ารับได้เพียงระวังเรื่องโหลดที่จะมาต่อ กรณีนี้อาจลองปรึกษาทีมงาน FIBARO เพื่อติดตั้งอุปกรณ์กันกระชากหรือรับกำลังไฟที่เกิน
.
4.3 ดิมเมอร์
มีโมดูลสำหรับหรี่ไฟแยกมาเฉพาะ เรื่องการตั้งค่าพื้นฐานเรียกว่าคิดมาเผื่อผู้ใช้งานเยอะทีเดียว จะใช้งานกับสวิตช์ป๊อกแป๊กธรรมดาก็ได้ หรือสวิตช์กระดิ่งก็ได้ และปรับค่าความสว่างต่ำสุดให้เริ่มที่กี่ % ก็ได้ (แก้ค่าในหัวข้อพารามิเตอร์)
.
4.4 วัดพลังงานไฟฟ้า
ฟังก์ชั่นนี้มีมาให้เลย ซึ่งนอกจากทำให้เรารู้ค่าการใช้ไฟฟ้าแล้วยังสามารถนำค่าพวกนี้ไปใช้ตั้งเงื่อนไขในงานประยุกต์อีกด้วยเช่น ชาร์จแบตเสร็จให้ตัดไฟ หรือถ้าเสียบพัดลมอยู่ก็รู้ว่าพัดลมทำงานหรือไม่ ไม่สั่งเปิดซ้ำจนกลายเป็นปิด เป็นต้น
.
<5. ลูกเล่นแพรวพราว>
-การตั้งเงื่อนไขออโตเมชั่นใช้รูปแบบลากบล็อกมาต่อกัน (รูปที่ 5) ทำให้เข้าใจง่ายแม้มือใหม่ หรือจะแปลงเป็นภาษาโปรแกรม Lua เพื่อแก้ไขเองก็ได้ถ้าเข้าใจหลักการ
หากลองเล่นไปซักพักจะรู้ว่ามันมีอะไรล้ำลึกอยู่ข้างในอีกมากและลูกเล่นก็แพรวพราวเช่น
.
5.1 แจ้งเตือนแบบโต้ตอบได้
เราสามารถสั่งให้ส่งการแจ้งเตือนมาที่มือถือเมื่อเงื่อนไขครบ แต่ไม่ใช่แค่ส่งธรรมดาแต่ให้ถามว่าจะทำ Action ต่อไปมั้ยเช่น หาก PIR เจอความเคลื่อนไหวในโหมด Away = แจ้งเตือนและถามว่าจะเปิดไซเรนมั้ย เพียงเรากด Yes จาก pop up (รูปที่ 4) ไซเรนก็จะทำงานโดยเราไม่ต้องเข้าแอป (มีบางกรณีที่ No เช่น รู้อยู่แล้วว่าแม่จะมาตอนเที่ยง เป็นต้น)
.
5.2 ใส่ PIN ให้กับ Scene ได้
นอกจาก PIN จะใช้ในการเปิดปิดระบบความปลอดภัยบ้านแล้ว เราสามารถล็อค Scene ที่เราตั้งขึ้นได้หากเราไม่อยากให้ใครกดได้ง่ายๆ เช่น “ปิดระบบไฟและสวิตช์ทั้งบ้าน” ต้องใส่ PIN ก่อน ซึ่งไม่พบง่ายๆ ในแอปสมาร์ทโฮมทั่วไป (รูปที่ 3)
.
5.3 Automation แบบสองบุคคลิก
-เราเลือกได้ว่าออโตเมชั่นที่มีการ delay เวลาในคำสั่ง สามารถเริ่มใหม่เมื่อเกิด trigger ซ้ำๆ (เหมือน Mi Home) หรือจะไม่เริ่มใหม่แต่ทำคำสั่งเดิมให้เสร็จก่อน (คล้าย Smart Life) ก็ได้ มีอิสระในการกำหนดกฎแบบนี้ คนบ้าสมาร์ทโฮมน่าจะชอบ
.
<6. รองรับ Google/Alexa: ถามอุณหภูมิได้>
-การสั่งงานนั้นสามารถสั่งงานได้ทางแอป Yubii ที่สวยงามน่าใช้ (รูปที่ 3) หรือจะสั่งผ่าน Google/Alexa ก็รองรับ และที่น่าประทับใจคือเราถามอุณหภูมิจาก Temp sensor ของ FIBARO กับ Google ได้ หามาตั้งนานว่าค่ายไหนทำได้ โธ่!! (OK Google อุณหภูมิห้องนอนเท่าไหร่? (ลูกนอนอยู่ชั้นบน))
.
<7. รองรับอุปกรณ์ต่างยี่ห้อ>
-ได้รับการยืนยันจาก FIBARO ว่าสามารถใช้อุปกรณ์ Z-Wave ของแบรนด์อื่นมาใช้เชื่อมต่อกับระบบได้ไม่หวง (ผิดกับ Zigbee ที่บางค่ายกั๊ก ทำให้ต่อข้ามยี่ห้อไม่ได้) แต่มีข้อควรระวังคือความถี่ของอุปกรณ์ซึ่งถูกอนุญาตให้ใช้ต่างกันในแต่ละประเทศ อย่าสุ่มสี่สุ่มห้าซื้อจากต่างประเทศโดยไม่เช็คว่าความถี่ตรงกับเรา
.
<8. คุณภาพและบริการ>
-จากราคาแล้ว คุณภาพนี่ไม่น่าเป็นห่วงเลย ซึ่งผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่สามารถแกะพิสูจน์อะไรได้ แต่จากการใช้งานแค่สัมผัสภายนอกก็รู้สึกถึงความใส่ใจเช่น ถอดที่ครอบ Door sensor ก็ดึงออกแบบนุ่มๆ ลื่นมือ แต่ใส่คืนก็ประกบแน่น
.
มี Line ที่สามารถติดต่อสอบถามได้ตลอดเวลาทำการ หากมีปัญหาอะไรจะมีเจ้าหน้าที่คอยตอบเราเสมอ
.
[จุดด้อยของ FIBARO]
<1. ราคา>
-ราคาจะเรียกว่าถูกหรือแพงนั้นคงขึ้นกับความพอใจและกำลังทรัพย์เป็นหลัก แต่แนวทางของเพจเบื้องหลังสมาร์ทโฮมอย่างที่ทุกท่านรู้กัน แอดมินจะเป็นคนประหยัด555 จากมุมมองผมที่รู้สึกว่าแพงไปหน่อยแต่หากมองคุณภาพกับสิ่งที่ได้คงธรรมดามากสำหรับแวน ธิติพงษ์
.
<2. การจัดการพึ่งพาหน้าคอม>
-แอป Yubii เป็นเพียงการสร้างความสะดวกในการใช้งานระดับหนึ่งเช่น แสดงสถานะ ควบคุมปิดเปิด สั่งซีน รับการแจ้งเตือน ซึ่งน่าจะเป็นที่พอใจแล้วกับผู้ใช้งานทั่วไป
.
แต่คนบ้าสมาร์ทโฮมที่คอยแต่จะตั้งค่าเงื่อนไขนั่นนี่ตลอดเวลาอาจลำบากหน่อยที่ต้องเปิดคอมทุกครั้งเพื่อแก้ไขปรับเปลี่ยน แต่ก็เพราะหัวข้อให้ปรับเล่นมีเยอะมาก คนพัฒนาแอปคงหนักใจที่จะรวบมันมาไว้บนแอป
.
❤. อุปกรณ์ในสังกัดน้อย>
-อุปกรณ์ในชื่อ FIBARO เองไม่ได้มีมาก แต่ก็เพราะอุปกรณ์ที่อยู่ในสังกัดก็ฟังก์ชั่นเต็มทุกตัวจนไม่ต้องมีรุ่นให้เลือกและเรียกว่าเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้อยู่แล้ว แต่หากต้องการอุปกรณ์อื่นเพิ่มเช่น ไซเรน ก็ต้องหามาจากแบรนด์อื่น
.
[ส่งท้าย]
-ผมได้ยินชื่อ FIBARO มานานเพราะครองตลาดสมาร์ทโฮมแบบไร้สายในไทยมายาวนานมาก ขอบคุณ FIBARO ที่ส่งผลิตภัณฑ์มาให้ทดลองใช้ทำให้รู้ว่าไม่ใช่แค่คุณภาพภายนอก แต่การตั้งค่ายังลงลึกกันได้อีกมากจากหัวข้อพารามิเตอร์ภายในตัวอุปกรณ์ที่เปลี่ยนได้อิสระ แม้ FIBARO จะดูเหมือนเหมาะกับ exclusive user ที่ไม่มีเวลามาเล่นสมาร์ทโฮมแต่ต้องการสบาย แต่อีกมุมนึงก็ช่างเหมาะกับคนบ้าสมาร์ทโฮมที่อยากตั้งค่าลึกๆ อีกเช่นกัน
.
บทความนี้ Sponsored by FIBARO

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *