7 สิ่งที่ต้องเตรียมตั้งแต่ก่อสร้างเพื่อสมาร์ทโฮม

[7 สิ่งที่ต้องเตรียมตั้งแต่ก่อสร้างเพื่อสมาร์ทโฮม]
.
มีหลายท่านอยากให้ผมเขียนเรื่องการเตรียมก่อสร้างสำหรับสมาร์ทโฮม แต่ด้วยนโยบายเพจที่ต้องทำเองจริงถึงจะเขียนเลยค้างคาไว้นานมาก ตอนนี้สร้างออฟฟิศใหม่เสร็จจึงสรุปออกมาเป็นเชิงแชร์ประสบการณ์

.

[1.] เดินสาย N ทุกสวิตช์ไฟ
-เพราะ Smart switch เป็นเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ต้องการไฟฟ้าเลี้ยงวงจร การจ่ายไฟให้ Smart switch แบบเดียวกับจ่ายให้เครื่องใช้ไฟฟ้า (คือไฟผ่านสาย L แล้ววิ่งครบวงจรกับสาย N ที่ตัวสวิตช์เองเลย) จะได้ระบบที่เสถียรที่สุด
.
แน่นอนว่าสวิตช์แบบไม่ใช้สาย N ก็มีวางขายแต่ต้องใช้งานตามเงื่อนไขหรืออาจพบปัญหาในบางกรณี หากมีโอกาสเดินสาย N ตั้งแต่ก่อสร้าง ทำเลยครับ

.

[2.] ย้ำ!! แยกวงจรแสงสว่างกับเต้ารับ
-บ้านทั่วไปแยกวงจรแสงสว่างกับเต้ารับอยู่แล้ว (เหมือนผมยกเรื่องธรรมดามาพูดเลย) แต่เคสที่ต้องระวังเช่น พอรับบ้านจากโครงการมาแล้วต่อเติมเพิ่ม ช่างอาจใช้สาย N จากวงจรเต้ารับมาเข้าวงจรแสงสว่างเพราะสะดวกก็อาจเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่ตู้คอนซูมเมอร์รุ่นใหม่ๆ จะตัดไฟแล้ว ยังอาจเกิดปัญหาใช้ Smart switch บางรุ่นไม่ได้
.
และควรหลีกเลี่ยงการมีอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นในวงจรแสงสว่างเช่น พัดลมระบายอากาศในห้องน้ำ (เป็นไปได้ให้เดินสายแยกกัน) หรือกริ่งหน้าบ้าน เป็นต้น อาจมีเคสที่มีปัญหาไฟกระพริบหรือสวิตช์ทำงานเอ๋อเกิดขึ้นได้

.

[3.] เลือกบล็อกฝังสวิตช์ขนาดใหญ่และแบบพลาสติก
-บล็อกฝังผนังสำหรับสวิตช์โดยหลักมี 2 แบบคือจัตุรัส (3×3 นิ้ว, EU) และผืนผ้า (2×4 นิ้ว, US) หากเน้นดีไซน์ของสวิตช์ควรตัดสินใจสวิตช์ที่ชอบให้ได้ก่อน เพราะความหลากหลายของสินค้าในตลาดของแบบ EU หรือ US แตกต่างกัน
.
ขนาดบล็อกสวิตช์ควรเลือกที่มีขนาดใหญ่พอควร (เช่น bit.ly/3aSPtVo) เพื่อง่ายต่อการติดตั้ง หากใช้ขนาดเล็กไปอาจเจอกรณีใส่ไม่ลงบล็อก แม้เคสที่เจ้าของบ้านไม่ได้ติดเองแต่หากคิดถึงจิตใจช่าง เลือกบล็อกใหญ่เถอะครับ
.
และหากมองในมุมสมาร์ทโฮมที่อุปกรณ์ต้องสื่อสารกันด้วยสัญญาณเช่น wifi/zigbee แผ่นโลหะเป็นตัวบังสัญญาณที่ดีมาก จึงควรหลีกเลี่ยงและไปใช้แบบพลาสติก

.

[4.] ระบบแสงสว่างเลือกให้ถูกต้อง
-การใช้งานหลอดไฟโดยปกติเราจะเลือกใช้
->หลอดไฟธรรมดาใช้คู่กับ Smart switch
->หลอดไฟแบบหรี่ได้ใช้คู่กับ Smart dimmer
->หลอดไฟสมาร์ทใช้คู่กับ Wireless switch และต่อไฟตรงเพื่อเลี้ยงหลอดไฟ
(รายละเอียด: bit.ly/3NZzWSz)
.
ควรตัดสินใจตั้งแต่ขั้นต้นเพื่อติดตั้งรูปแบบที่เหมาะสม พึงระวังว่าหลอดสมาร์ทต้องมีไฟเลี้ยงตลอดเวลา หากมีสวิตช์ให้กดเหลืออยู่ก็จะเกิดเหตุการณ์คนเผลอกดปิดและออฟไลน์

.

[5.] วางแผนเพิ่มแหล่งจ่ายไฟ
-อุปกรณ์สมาร์ทโฮมต้องการไฟฟ้า หากเราวางแผนได้ก่อนหน้าว่าอยากติดตั้งอุปกรณ์ที่จุดไหนก็สามารถสร้างเต้ารับไว้รอได้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ใส่ถ่านให้มากที่สุด
.
-> กล้องวงจรปิด: โดยพื้นฐานเราจะจ่ายไฟให้กล้องตลอดเวลาจึงควรมีจุดจ่ายไฟไว้ใกล้ๆ จะได้ไม่ต้องเดินสายไฟร้อยท่อสร้างความไม่สวยงามทางสายตา ควรวางแผนให้ดี
หมายเหตุ: หากจ่ายไฟผ่าน POE ต้องคิดเผื่อเดินสายเพิ่มเติม / จะกล้องใช้แบตชาร์จก็ได้แต่โดยมากกล้องประเภทนี้จะไม่ค่อยบันทึกภาพตลอดเวลา
.
-> Motion sensor: หากอยู่ในจุดคนพลุกพล่านควรใช้แบบจ่ายไฟ จะฝังเพดานก็ต้องเดินสายหลังฝ้ารอ / หรือแบบเสียบปลั๊กก็สร้างเต้ารับในจุดที่ต้องการ
.
-> ม่าน: แม้จะมีวิธีการเปิดม่านหลายแบบเช่น ตัวคล้องบนรางม่าน มอเตอร์ใส่แบต (สองแบบนี้ลำบากตรงต้องชาร์จ) แต่คงไม่เสถียรเท่ามอเตอร์ไฟฟ้าแบบจ่ายไฟโดยเฉพาะกับม่านที่มีน้ำหนักมาก แนะนำว่าควรปรึกษาร้านม่านเฉพาะทางสมาร์ทโฮมเพื่อเลือกมอเตอร์ที่เหมาะสมและกำหนดจุดจ่ายไฟ (รายละเอียดม่านมีเยอะมากควรพึ่งโปร)
.
-> Smart IR, Smart Speaker, Siren, อื่นๆ: กำหนดจุดติดตั้งให้เรียบร้อยและสร้างแหล่งจ่ายไฟรอไว้เลย และเพื่อกันเหนียวทำเต้ารับเพิ่มไว้เยอะๆ เพื่อรองรับอุปกรณ์ในอนาคต

.

[6.] เดินสาย LAN ให้ทั่วเพื่อเน็ทเวิร์คของบ้านที่แข็งแกร่ง
-ต่อให้ไม่ใช่สมาร์ทโฮม หลายบ้านก็คงมีปัญหากับจุดอับสัญญาณ Wifi โดยเฉพาะ ip camera ที่ติดนอกบ้าน หรือห้องชั้น 2 ที่อยู่ห่างจากเราเตอร์หลักของบ้าน หากสามารถเดินสาย LAN ได้ควรเดินทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ ในบ้าน หรือจะใช้ Mesh wifi ก็ตัดสินใจตามความเหมาะสม
.
กรณีใช้สัญญาณ Zigbee หรือสัญญาณอื่นในอนาคตเช่น Thread ระบบเหล่านี้เมื่อใช้จำนวนระดับหนึ่งจะสามารถสร้างเน็ทเวิร์คของตัวเองได้ (Mesh network) ยิ่งหากใช้ Zigbee smart switch แบบใช้สาย N แล้วโดยทั่วไปสวิตช์จะทวนสัญญาณกันเองสร้างเน็ทเวิร์คที่แข็งแกร่ง

.

[7.] ทำความเข้าใจกับผู้รับเหมาและช่าง
-ข้อนี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ หากผู้รับเหมาที่เข้าใจสมาร์ทโฮมอยู่แล้วปัญหาก็จะน้อย และควรแจ้งไว้ล่วงหน้าว่าการเดินสายไฟหรือตำแหน่งปลั๊กสวิตช์อาจแตกต่างจากบ้านทั่วไป เจ้าของบ้านอาจดูเหมือน “เยอะ” หน่อยก็ขอให้เข้าใจกัน
.
สำคัญคือใจเขาใจเรา ตัวเราก็ไม่ควรไปเปลี่ยนหรือเพิ่มงานหลังช่างทำเสร็จไปแล้วเพราะงานรื้อยากกว่างานสร้างใหม่เสียอีก หมั่นเข้ามาดูความคืบหน้าบ่อยๆ มีอะไรบอกกันตั้งแต่เนิ่นๆ อะไรที่เปลี่ยนไม่ได้แล้วก็ควรยอมรับ

.

[ปิดท้าย]
-งานก่อสร้างเพื่อรองรับสมาร์ทโฮมยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะที่พูดถึงไม่ไหวเพราะอาจไม่ได้ตรงกับทุกเคส แต่อย่างน้อยหากสามารถยึดหลักข้างต้นได้ เราจะไม่ปวดหัวเหมือนคนทำสมาร์ทโฮมหลังสร้างบ้านไปแล้ว และกอดอกยืนยิ้มมองบ้านของตัวเองได้อย่างมีความสุข
.
คลิปตรวจงานก่อสร้าง: https://fb.watch/dGHXMZjIDT/
.
#InsideSmartHome
.
ที่มาจากเพจเบื้องหลังสมาร์ทโฮม
[7 สิ่งที่ต้องเตรียมตั้งแต่ก่อสร้างเพื่อสมาร์ทโฮม]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *