เหตุผลที่เราไม่ควรใช้สวิตช์แบบไม่ใช้สาย N ถ้าไม่จำเป็น

ยังคงมีคำถามและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Smart switch แบบใช้สาย N (Neutral) กับแบบไม่ใช้สาย N อยู่
.
บางท่านเข้าใจว่าการไม่ใช้สาย N คือการใช้ของรุ่นใหม่ เทคโนโลยีใหม่และเราควรใช้มัน
คำตอบคือ “No!!”
.
ถ้าสรุปสั้นๆ สำหรับคนไม่อยากอ่านยาวคือ
-สวิตช์ใช้สาย N มีความเสถียรสูง-ปัญหาน้อย
-สวิตช์ไม่ใช้สาย N มีหลากหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา
.
ผมจะพยายามสรุปให้กระชับที่สุดโดยพูดรวมถึงทั้งกรณีใช้สัญญาณ wifi และ zigbee (หากใครอยากเข้าใจการทำงานของวงจร Zigbee แยกกับวงจร Wifi ให้ลองอ่านโพสนี้ https://bit.ly/3sSjx8K)
.
1. ใน Smart switch มีวงจรของมันเองและจะทำงานได้เมื่อมีไฟฟ้าเลี้ยงวงจร
.
2. สวิตช์แบบใช้สาย N คือการต่อสายไฟให้ครบวงจรภายในตัวสวิตช์เอง จึงมีความเสถียรสูง (สาย L วิ่งเข้าวงจรและบรรจบกับสาย N ตรงสวิตช์เลยทำให้ไฟฟ้าครบวงจรด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าจากแหล่งอื่น)
.
3. สวิตช์แบบไม่ใช้สาย N ภายในมีวงจรที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อบ้านที่ไม่มีสาย N โดยมันจะครบวงจรได้ด้วยการพึ่งพาไฟฟ้าที่วิ่งผ่านสายไฟที่วิ่งไปหาหลอดไฟ (โดยมากคือ L1) เพราะที่หลังหลอดไฟมีสาย N ให้ไฟฟ้าครบวงจรรออยู่
.
4. ไฟฟ้าจะวิ่งผ่านหลอดไฟ หรือกรณีคร่อม C (Capacitor) ก็วิ่งผ่านทั้งหลอดไฟและ C มาจ่ายไฟให้วงจรที่สวิตช์ที่ใช้ไฟเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และทำงานได้
.
5. แต่การพึ่งพาไฟฟ้าจากที่อื่นก่อให้เกิดปัจจัยรบกวนหลายอย่างทำให้เกิดความไม่เสถียรและสร้างปัญหา และนี่คือเหตุผลที่สั้นที่สุดที่เราไม่ควรใช้ Smart switch แบบไม่ใช้สาย N
.
6. ความไม่เสถียรคืออะไรบ้างนั้นถ้าลงรายละเอียดจริงๆ อาจต้องแยกอธิบายวงจร wifi กับ zigbee และแยกเรื่องการคร่อม C หรือไม่คร่อม แต่จะยกตัวอย่างคร่าวๆ คือ
.
6.1 กรณีใช้ไฟฟ้าจากหลอดไฟอย่างเดียว (กรณีไม่คร่อม C ในแบบวงจร zigbee) หลอดไฟ LED มีวงจรภายในของตัวเองเช่นกัน มันจะพยายามเปิดหลอดไฟให้ได้ด้วยกระแสไฟฟ้าที่มี (กรณีใช้ Smart switch ไฟฟ้าจะไหลผ่านหลอดไฟตลอดแม้ปิดไฟอยู่) จึงเกิดปัญหากับหลอดไฟวัตต์ต่ำ ที่เปิดตัวเองได้แม้ไฟน้อยแต่เปิดได้แป๊บเดียวก็ดับวนไป = ไฟกระพริบ
.
6.2 สืบเนื่องจากข้อ 6.1 หลอดไฟต่างยี่ห้อก็มีวงจรต่างกัน ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย บางหลอดไฟมีวงจรที่เก่งมากสามารถเปิดไฟได้แม้กระแสน้อยมากกกกก = กระพริบง่ายขึ้น
.
6.3 วงจรภายใน Smart switch ก็แตกต่างกัน บางยี่ห้อพัฒนามาดีมากก็ใช้ไฟน้อยมาก บางยี่ห้อใช้ไฟสูงหน่อยก็มีโอกาสทำให้หลอดกระพริบได้ง่าย
.
6.4 กรณีคร่อม C ในวงจร wifi เป็นการพึ่งพาไฟผ่าน C ซึ่งถ้าใครอยู่สายอิเล็กก็จะรู้ว่าการมี C อยู่ในวงจรนี่มันจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นได้ง่ายเช่น การกระชากไฟแรงๆ ของบัลลาสต์ในหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือมอเตอร์ของพัดลมระบายอากาศในห้องน้ำ
.
7. ในขณะที่ Smart switch แบบใช้สาย N ไม่ได้รับผลกระทบเหล่านี้เลย เพราะไฟฟ้าครบวงจรด้วยสาย N ของมันเอง ทำงานเอง ไม่ต้องรอพึ่งใคร
.
ผมยังคงยืนยันว่าถ้าเราใช้แบบสาย N ได้ให้ใช้เช่น ทำบ้านใหม่ก็เดินสาย N ไว้
แต่บ้านปัจจุบันที่ไม่ได้เดินสาย N ไว้และลำบากในการทุบผนังหรือไม่ชอบสายเดินลอย ก็ต้อง “จำใจ” ใช้แบบไม่ใช้สาย N ไป และควรรู้ถึงปัจจัยที่ทำให้มันทำงานผิดปกติในบางโอกาส และแก้กันไป
.
ว่าจะเขียนสั้นๆ ก็ยาวอีกแล้ว แต่มันสั้นไม่ได้จริงๆ เพราะเรื่องนี้มีปัจจัยเยอะมาก ทั้งในตัว Smart switch เอง หลอดไฟที่ใช้ และสภาพการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้าน
.
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้ทุกท่านเข้าใจให้ตรงกันคือ
“หากสามารถใช้ Smart switch แบบใช้สาย N ได้ให้ใช้ ก่อนจะตัดสินใจไปเลือกแบบไม่ใช้สาย N”
.
หากเนื้อหาผิดพลาดประการใดสามารถชี้แนะเป็นแนวทางได้นะครับ เพื่อพัฒนาสมาร์ทโฮมบ้านเราให้ไปไกลยิ่งขึ้น
.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *