เซนเซอร์ตรวจจับการมีอยู่ Presence sensor

[เซนเซอร์ตรวจจับการมีอยู่ Presence sensor]
.
ปัญหาไฟดับในห้องน้ำระหว่างนั่งอึจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ทำสมาร์ทโฮม (ใช่ป่ะหล่ะ!?)
และเรื่องนี้ PIR Motion sensor ที่เราๆ ใช้กันอยู่มันก็ไม่ได้ทำงานผิดแต่เพราะเราไม่เคลื่อนไหว (no motion) มันก็เลยตัดสินว่าไม่พบการเคลื่อนไหวซึ่งเราผิดเองที่เอาคำสั่งนี้ไปสั่งปิดไฟ
.
[เซนเซอร์ใหม่ของวงการสมาร์ทโฮม: Presence sensor] (คลิป: bit.ly/3sboES2)
-ช่วงปีมานี้ Tuya พัฒนา Presence sensor ออกมาหลายตัวและราคาเริ่มถูกลงจนพอจับต้องได้ ซึ่งตามชื่อของมันเป็นการตรวจจับการมีอยู่ (Presence) ไม่ใช่การเคลื่อนไหว (Motion) โดยอาศัยหลักการยิงคลื่นออกไปและรับคลื่นที่สะท้อนกลับเพื่อนำไปคำนวณหาระยะ ความเร็ว ทิศทางของวัตถุ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเรดาร์ (Radar)
.
คลื่นที่ใช้งานมีทั้ง Microwave หรือ Millimeter wave หรือ Light/Laser (กรณีนี้เรียก LiDAR) ซึ่งแตกต่างกันตามความยาวคลื่นยิ่งคลื่นสั้นมากๆ อย่าง LiDAR ก็ยิ่งละเอียดสูงแต่ราคาก็แพงตามมา ก็ต้องขอบคุณเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นส่วนเร่งการพัฒนาเซนเซอร์ประเภทนี้ที่มีมานานแล้วให้เล็กลงและราคาถูกลงจนเอามาใช้ในบ้านได้
.
[Millimeter wave Presence sensor]
-จริงๆ แค่คลื่นมิลลิเมตรนี้ถ้าในระดับของดีแล้ว เค้าเคลมว่าสามารถจับระยะที่เปลี่ยนไปของวัตถุได้ถึง 0.1 mm ตรวจจับการหายใจ ชีพจรของคนได้ แถมมีข้อดีคือไม่ต้องห่วงแม้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนกะทันหันเช่น แสงจ้าหรือมีฝุ่นมาก ก็ทำงานได้แม่นยำ (LiDAR ด้อยกว่าในจุดนี้)
.
แต่ตัวที่นำมารีวิวครั้งนี้ราคา 2 พันกว่าบาท (ซึ่งถือว่าราคาถูก) เค้าก็ไม่ได้เคลมถึงขั้นนั้น และสิ่งสำคัญมากๆ อีกอย่างคือซอฟต์แวร์ ซึ่งจะมาคำนวณเพื่อแยกข้อมูลจำนวนมากที่มีทั้งข้อมูลที่ต้องการและไม่ต้องการรวมถึง noise ด้วย เพื่อให้แสดงค่าถูกต้องตามลักษณะงานที่เรานำไปใช้
.
คราวนี้มาดู Presense sensor รุ่นแรกๆ ของค่าย Tuya จะทำได้ถึงแค่ไหนกัน โดยเซนเซอร์ตัวนี้หลักๆ จะตรวจจับ “ปริมาณการเคลื่อนไหว” เช่น ไม่มีการเคลื่อนไหวเลย = 0, มีคนนั่งอยู่แต่ไม่ขยับตัว = 1, ขยับมือ = 14, เดินไปมา = 30-40 (จากค่าสูงสุด 100)
.
[1. ตรวจจับการมีอยู่]
-เมื่อเซนเซอร์พบการมีอยู่ของคน (*1) จะแสดงสถานะ Occupied (มีคน) โดยต่อให้เราพยายามไม่ขยับตัว แต่ยังไงเราก็ต้องหายใจจนตัวขยับเล็กน้อย ปริมาณการเคลื่อนไหวจะไม่เป็น 0 สถานะ Occupied จะยังคงค้างอยู่ต่อไป
.
แต่เมื่อออกนอกพื้นที่เซนเซอร์ ไม่พบปริมาณการเคลื่อนไหว เมื่อผ่านไป 1-2 นาทีจะแสดงสถานะ Vacant (ไม่มีคน) (เวลา 1-2 นาทีนี้คาดว่าตามซอฟต์แวร์กำหนด)
.
(*1) คลื่นมิลลิเมตรจริงๆตรวจจับทุกการเคลื่อนไหว แต่การแบ่งแยกว่าเป็นคนหรือสัตว์หรือสิ่งของน่าจะทำโดยซอฟต์แวร์ บ้านผมไม่มีหมาแมวมีแต่เต่ามาเทส ผลคือใช้เวลาถึง 20 นาทีในการตัดสินว่าไม่มีคน หากใครซื้อใช้แล้วเทสกับหมาแมวในบ้านแจ้งด้วยนะ บางทีซอฟต์แวร์อาจเขียนมาแยกหมาได้ดีกว่า
.
[2. ตรวจจับการเคลื่อนไหว]
-หากเซนเซอร์พบการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการเคลื่อนไหวเช่น จาก 1 เป็น 23 ก็จะแจ้งสถานะว่า motion (มีการเคลื่อนไหว) แต่หากเป็น 1 ตลอดเวลาจะแจ้ง static (นิ่ง) ซึ่งทำการวัดและแสดงค่าตลอดเวลาแบบเรียลทาม
[3. ตรวจจับทิศทางการเคลื่อนไหว]
-เซนเซอร์สามารถบอกทิศทางการเคลื่อนไหวได้อีกด้วยเช่น เมื่อเดินเข้าหาเซนเซอร์ จะแจ้งสถานะ close to และเมื่อเดินออกห่างจากเซนเซอร์จะแจ้งสถานะ far away
.
[4. สิ่งสำคัญคือ Sensitivity]
-ปรับ sensitivity ได้ 0-9 ระดับ โดยค่าตั้งต้นเป็น 6 ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เราอาจต้องปรับให้เหมาะสมกับบริเวณที่เราใช้งาน การปรับระดับ 9 บางทีอาจเจออาการค้างคือเจอคนได้ตลอด หรือถ้าต่ำเกินไปจะเกิดอาการตรวจจับได้ลำบาก
.
และคลื่นนี้ทะลุพลาสติก แก้วได้ และยังทะลุผ่านผนังได้ระดับหนึ่ง (ต่างจาก PIR ที่แค่มีอะไรบังก็ไม่ตรวจจับ) ต้องระวังการตรวจจับผิดพลาดข้ามผนังบางด้วยหากตั้ง sensitivity สูงเกินไป (อาการนี้คนใช้ microwave sensor น่าจะเคยเจอ)
.
[5. เลือกสถานที่ที่นำไปใช้ให้เหมาะสม]
-ในแอปมี Scene ให้เลือกว่าเราติดตั้งในที่แบบใด คาดว่าซอฟต์แวร์ในการคำนวณคงแตกต่างกันบ้าง แต่ที่เห็นชัดคือ sensitivity จะเปลี่ยนไปตาม Scene
.
[6. เซนเซอร์แสงสว่าง]
-มีเซนเซอร์แสงสว่างติดมาด้วย แสดงค่าได้สูงสุด 66,536 lux
.
[7. คำสั่งในออโตเมชั่น]
-คำสั่งที่นำไปใช้ได้ในในออโตเมชั่นจะใช้ได้เกือบทุกค่าที่กล่าวถึงข้างต้นเช่น สถานะ Occupied / Vacant และ motion / static และ motion direction และความสว่าง
.
[8. ความเร็วการตอบสนอง]
-เซนเซอร์ตัวนี้ใช้สัญญาณ wifi แต่เนื่องจากใช้ไฟ 220V จ่ายตลอดเวลา (ยิงคลื่นตลอดเวลาขนาดนี้ใช้ถ่านคงไม่ไหว) จึงไม่มีการเข้า sleep mode เหมือน wifi sensor ใส่ถ่านตัวอื่นๆ การตอบสนองจะหน่วงเท่าเวลาไปกลับ server ประมาณ 1 วินาที (กรณีสั่งอุปกรณ์บน server เดียวกัน) และอาจ 2-3 วินาทีกรณีส่งข้อมูลเข้ามือถือ
.
[ส่งท้าย]
-millimeter wave sensor เป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะแพร่หลายในอนาคต ไม่ใช่ว่าออกมาเพื่อแก้ปัญหานั่งอึแล้วไฟดับของชาวสมาร์ทโฮมเพียงอย่างเดียว เช่นในด้านการดูแลผู้สูงอายุจะนำติดตั้งในห้องน้ำซึ่งไม่ได้เป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวเหมือนการติดกล้อง ก็สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเช่น ล้มลง
หรือในระดับงานวิจัยก็ใช้ตรวจจับชีพจรคนในบ้านเพราะเล็งเห็นว่าใครจะบ้าใส่ Smart watch นอน เป็นต้น
.
หรือรถยนต์ขับอัตโนมัติก็ต้องใช้ทั้ง Camera / Millimeter radar / LiDAR ร่วมกันในการชดเชยจุดด้อยของตัวอื่นเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยที่สุด
.
ยอมรับว่าถ้าไม่ทำเพจก็คงไม่ซื้อหรอกอ่ะนะ เพราะสำหรับผมแล้ว PIR ก็เพียงพอกับความต้องการ ไฟจะดับนิดหน่อยไม่ใช่สาระสำคัญอะไรมากก็แค่โบกมือไฟก็ติด
.
แต่ในอนาคตหากติดตั้งเพื่อวัดชีพจร การเต้นของหัวใจ วิเคราะห์สภาวะความเครียดได้แทนการใส่ smart watch ในบ้าน ก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่าและน่าซื้อมากยิ่งขึ้น
.
หมายเหตุ:
1. วิจารณ์เซนเซอร์ได้แต่อย่าด่าเพจนะ ผมแค่เทสให้ดู เพราะนี่คือรุ่นแรกๆ ของเซนเซอร์ประเภทนี้ของ Tuya คิดว่าอนาคตคงมีการอัพเดทเฟิร์มแวร์แก้ไขอีกมากเช่น ปรับเวลาตัดสิน Vacant ให้เร็วขึ้น หรือปัจจุบันปิดการแจ้งเตือนจากเซนเซอร์ไม่ได้ต้องไปตั้ง do not disturb เฉพาะเซนเซอร์แทน เป็นต้น
2. ความรู้ที่เขียนประกอบมาจากการอ่านบทความของ millimeter wave radar (sensor) โดยรวมที่ทั้งใช้ในบ้านและรถยนต์ไฟฟ้า ตัวผลิตภัณฑ์เองไม่ได้เขียนอะไรมาให้เลยตามสไตล์ผลิตภัณฑ์ค่าย Tuya หากมีผิดพลาดประการใดต้องขออภัยและจะแก้ไขตามความถูกต้องครับ
.
ลิงค์สินค้า 2,160 บาท
.
.
ที่มาจากเพจเบื้องหลังสมาร์ทโฮม
[เซนเซอร์ตรวจจับการมีอยู่ Presence sensor]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *