ระบบแจ้งเตือนน้ำหมดแท็งก์

[ระบบแจ้งเตือนน้ำหมดแท็งก์]
.
ต้องออกตัวก่อนว่าบ้านผมไม่เคยมีปัญหาน้ำหมดแท็งก์ เพราะแท็งก์ที่บ้านใหญ่มากและอยู่ในเขตการประปานครหลวงที่น้ำหยุดแค่ 3 ชั่วโมงสายคอลเซนเตอร์การประปาก็ไหม้ทันที
.
โซลูชั่นนี้เกิดจากไอเดียของเพื่อน (Nueng Tawee) ที่อยู่ในถิ่นที่น้ำประปาหยุดบ่อยและหยุดทีหลายวัน ซึ่งนาย N ตั้งใจว่าจะทำแค่ชั่วคราวก่อนลงระบบใหญ่ แต่ไปๆมาๆ อาจใช้ยาวไปเลยเพราะเวิร์คมาก
(หมายเหตุ: เป็นเพียงหนึ่งไอเดียในหลากหลายไอเดียในโลกนี้ ไม่ใช่ไอเดียที่ดีที่สุดหรอก)
.
[น้ำรักษาระดับเดียวกันเสมอ]
-เหตุเกิดจากนาย N หัวใสต่อสายยางออกจากแท็งก์และแขวนไว้ที่เสา ด้วยหลักการที่เรียนมาตั้งแต่ประถมว่า “น้ำรักษาระดับเดียวกันเสมอเมื่อต่อถึงกันอย่างอิสระ” และใช้กล้องวงจรปิดส่องดูระดับน้ำเพราะหอพักที่ดูแลอยู่ไกลจากบ้าน 10 กิโลเมตร
.
“ผมทำแค่ชั่วคราว เดี๋ยวจะซื้อเครื่องวัดระดับน้ำแบบอัลตร้าโซนิกมาใช้” นาย N พูดอย่างภาคภูมิใจ
ผมได้ยินถึงกับแทบกระโดดกอด นี่มันไอเดียสุดล้ำเพียงเราประยุกต์ใช้กับ Door sensor (อีกแล้ว!!)
.
[Pain point ของระบบแจ้งเตือนน้ำหมดแท็งก์]
-หลายโซลูชั่นของโจทย์นี้มักมีการเดินสายไฟไปใกล้แท็งก์น้ำเช่น เครื่องวัดระดับของเหลวด้วยอัลตร้าโซนิก เซนเซอร์แปะภาชนะวัดระดับของเหลว (Liquid level sensor) ซึ่งก็ไม่ได้เหมาะกับทุกบ้าน
.
หรือการจุ่มอุปกรณ์บางส่วนลงน้ำเป็นเวลานาน การให้บางส่วนของอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายในแท็งก์ความชื้นสูงก็เสียหายได้เร็ว
หรือถ้างานไหนใช้ทักษะทางอิเล็กทรอนิกส์มากก็อาจเกิดความท้อแท้ไม่อยากทำ
.
[ระบบแจ้งเตือนน้ำหมดแท็งก์]
– ระบบที่ไม่ต้องการทักษะทางอิเล็ก ไม่ต้องการสายไฟ และใช้กันได้ยาวๆ อาจจะเป็นที่ต้องการของคนบางกลุ่ม
ระบบของนาย N เพียงต่อยอดนำ Door sensor มาแปะไว้ที่ระดับความสูงที่ต้องการ (เช่น ครึ่งแท็งก์หรือค่อนแท็งก์ตามต้องการ) และใช้แม่เหล็ก (*1) ที่บรรจุภาชนะกันน้ำ (ตามรูป (*2)) ลอยไว้ในสายยาง เท่านี้ก็สามารถแจ้งเตือนได้ว่าน้ำอยู่ในระดับที่กังวลให้รีบเข้าจัดการ
.
แถมยังเช็คได้ด้วยสายตา (หรือผ่านกล้องวงจรปิด) ทำให้อุ่นใจยิ่งขึ้น
.
[ข้อดี]
– ไม่ต้องเดินสายไฟ
– ไม่ใช้ทักษะทางอิเล็กทรอนิกส์มากนัก
– อุปกรณ์ไม่จุ่มน้ำโดยตรงหรืออยู่ในแท็งก์
– ดูได้ด้วยตาเปล่าหรือผ่านกล้องวงจรปิด
[ข้อเสีย]
– ต้องแยกท่อเฉพาะเพื่อลากสายยาง
– อนาคตอาจต้องระวังเรื่องตะไคร่น้ำ (หากกังวลแนะนำให้ใช้สายยางทึบแสง)
.
(*1) Door sensor หรือ Contact sensor ตัวลูกที่ไม่ใช่ฝั่งวงจรเป็นเพียงแม่เหล็กธรรมดา
(*2) ภาชนะกันน้ำในรูปอาจดูเหมือนหลอดที่ใช้ตรวจ ATK แต่จริงๆ ใช้หลอดสารเคมีเกรดแล็บที่กันน้ำเข้าได้ดีหากปิดฝา หลอดตรวจ ATK นี่ไม่รู้กันได้ดีมั้ยนะจะซีลเพิ่มก็ได้) และจะเพิ่มขนาดสายยางเอาแม่เหล็กใส่ลูกปิงปองซีลปิด หรือจะไอเดียอื่นได้อีกมากมาย
.
.
ที่มาจากเพจเบื้องหลังสมาร์ทโฮม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *