บทความพิเศษสำหรับผู้กำลังจะเริ่มสมาร์ทโฮม

[บทความพิเศษสำหรับผู้กำลังจะเริ่มสมาร์ทโฮม]
.
โพสนี้ขอเขียนเพื่อผู้ที่จะเริ่มต้นสมาร์ทโฮมอย่างแท้จริง และท่านที่กำลังศึกษาและไม่รู้จะไปทางไหนยังไงดี โดยแนวทางของเพจเป็นสมาร์ทโฮมแบบง่ายที่เน้นใช้งานและตั้งค่าบนแอพมือถืออย่างเดียว
.
[1.] เราควรเลือกบริษัทมาติดตั้งสมาร์ทโฮม?
-บางท่านเริ่มต้นจากการเข้าไปคุยกับบริษัทหรือร้านที่ขาย-ติดตั้ง-บริการ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนมีเงินแต่ไม่มีเวลาศึกษาระบบสมาร์ทโฮม มีทั้งระบบที่นำเข้าจากยุโรปราคาแพงหรือแบบใช้อุปกรณ์หน้าตาคุ้นๆที่ขายตามออนไลน์แต่บริษัทนั้นนำมาทำแบรนด์ของตัวเอง ข้อดีคือ สบายมีคนทำให้หมด
ข้อเสียคือราคาแพงมาก ของแต่ละชิ้นจะแพงเพราะรวมค่าติดตั้งและบริการหลังการขายไว้แล้วเช่น smart plug ที่ตัวละประมาณ200บาทก็จะถูกขายที่1,000-2,000บาท และอนาคตอยากได้เพิ่ม เราจะรับกับราคานี้ไหวมั้ย
สิ่งที่ได้ก็จะเป็นงานพื้นฐานเปิด-ปิดไฟตามเวลา กดผ่านแอพ หรือสั่งด้วยเสียงง่ายๆ ไม่ลงลึก และสมาร์ทโฮมของเราก็จะหยุดแค่นั้นหากเราไม่ศึกษาเองเพิ่มเติม
*ร้านที่ขายอุปกรณ์ราคาแพงโดยไม่ได้ให้บริการใดๆทั้งติดตั้ง ประกัน บริการหลังการขาย เข้าข่ายหลอกลวงนะครับ พวกเราต้องรู้เท่าทัน
.
[2.] อุปกรณ์สมาร์ทโฮมแพงมาก เราต้องมีทั้งหมดมั้ย?
-อุปกรณ์พื้นฐานของสมาร์ทโฮมจริงๆมีไม่มาก ถ้าเราไม่ซื้อผ่านบริษัทหรือตัวแทนราคาก็ไม่แพงเลย (ผมจะเขียนราคาคร่าวๆในวงเล็บ) เช่น สมาร์ทปลั๊ก (200บาท) สวิทช์ไฟติดผนัง (500บาท) รีโมท IR ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (300บาท) เซนเซอร์ประตู (300บาท) เซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว (300บาท) หลอดไฟสมาร์ท (300-1000บาท)
อุปกรณ์พื้นฐานหนีไม่พ้นอุปกรณ์พวกนี้ ซึ่งหาซื้อได้ในร้านออนไลน์ และนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ร่วมกันเพื่อเพิ่มระดับความสมาร์ทให้มากขึ้นได้โดยเราตั้งเงื่อนไขเองในการควบคุม
.
[3.] จะทำสมาร์ทโฮมต้องมีแผงควบคุมมั้ย? ไม่ถนัดงานช่าง ศัพท์คอม-ศัพท์อิเล็กก็ฟังไม่รู้เรื่อง จะทำได้มั้ย?
-เทคโนโลยีปัจจุบันถ้าพูดสั้นๆคือ “ทุกอย่างอยู่ในมือคุณ” หมดยุคที่จะต้องใช้ตู้ควบคุมฝังไว้หลังบ้านหรือมีแผงเอาไว้กด แต่ทุกอย่างถูกรวบมาอยู่บนแอพบนมือถือ ทั้งการเปิดปิดพื้นฐาน ทั้งการตั้งค่า สร้างออโตเมชั่นจบบนมือถือ
-อุปกรณ์ที่งานช่างหนักสุดคงมีแค่สวิตช์ผนังที่ต้องถอด-ต่อสายไฟใหม่ซึ่งอาจลองทำเองได้หรือจ้างช่างเพียงครั้งแรก ส่วนอุปกรณ์สมาร์ทโฮมอื่นแทบไม่ต้องติดตั้งอะไรแค่ต้องแปะเทปสองหน้าเก่งๆ
-หากเราเลือกทำสมาร์ทโฮมแบบง่ายแบบที่ใช้งานผ่าน server (คำสั่งถูกส่งและประมวลผลที่นั่น) ของผู้ให้บริการที่ตั้งไว้ตามจุดต่างๆทั่วโลกโดยไม่ตั้ง server ในบ้านเอง เราไม่ต้องแตะบอร์ดวงจรใดๆ ไม่ต้องทนฟังศัพท์คอม-ศัพท์อิเล็กยากๆเลย
.
[4.] ต้องใช้ gateway หรือ hub ? และ Zigbee คืออะไร?
-สมาร์ทโฮมแบบง่ายนั้น เราเลือกที่จะไม่มี gateway หรือ hub ใดๆเลยก็ได้ อุปกรณ์แทบทุกอย่างมีแบบที่สามารถเชื่อมต่อ wifi ในบ้านเราและใช้งานได้ทันที
-แต่หากศึกษาเพิ่มเติมและหลงใหลในสมาร์ทโฮมแล้วจะขยับขยายซื้อ gateway เพื่อควบคุมอุปกรณ์ที่ไม่ใช้สัญญาณ wifi (เช่น ใช้สัญญาณ zigbee, bluetooth) เพื่อใช้งานที่ตอบโจทย์มากขึ้นก็ได้ สามารถอ่านความแตกต่างของแต่ละสัญญาณได้จากลิงค์นี้
-หรือสมาร์ทโฮมรูปแบบที่จำเป็นต้องมี hub กลางบ้านก็มีเช่น Homepod/Apple TV ตระกูล iOS (ไม่มีจะสั่งงานจากนอกบ้านไม่ได้) หรือบางท่านอาจใช้ SmartThings hub ตระกูล Samsung เพื่อเพิ่มศักยภาพของสมาร์ทโฮมก็มี
.
[5.] ต้องเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านใหม่เป็นแบบสมาร์ท?
-มีเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบสมาร์ทมันดีครับ ความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นเยอะ เวลาเลือกซื้อของใหม่เข้าบ้านถ้าเลือกแบบสมาร์ทไว้ก็ไม่ผิดหวังแน่นอน แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยกชุดเพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิมๆมันก็สมาร์ทได้ด้วยการใช้ Universal IR remote controller (https://www.facebook.com/109384814063772/posts/215860070082912/) ที่ควบคุมแทนการใช้รีโมทธรรมดาแทบทั้งหมด
แต่อุปกรณ์บางอย่างที่ไม่สามารถทำให้สมาร์ทได้ก็อาจจำเป็นต้องซื้อใหม่ไปเลยแต่ก็อยู่ที่เราต้องการมันมั้ยเช่น กลอนประตูไฟฟ้าสแกนนิ้วแบบเชื่อมต่อแอพ ตู้เย็นแบบสมาร์ท เป็นต้น
.
[6.] หน้าที่ของ google, amazon alexa
-google และ alexa (นอกจากนี้มี siri ของ apple) ทำตัวเหมือนเป็นผู้รวบรวมแบรนด์ผู้ให้บริการทั้งหลายมารวมกันไว้ใต้สังกัดและทำการสั่งงานได้โดยผ่าน google หรือ alexa อย่างเดียวได้โดยไม่ต้องมาเปิดทีละแอพเพื่อสั่ง รวมทั้งยังให้บริการสั่งงานด้วยเสียงด้วยซึ่งผู้ให้บริการ platform ธรรมดาทั้ง Tuya Xiaomi Sonoff Broadlink ต่างก็ขออยู่ภายใต้สังกัดทั้งสิ้นและยังมีแบรนด์อื่นๆอีกมากมายเป็นร้อยเจ้าที่อยู่ในสังกัด (เวลาซื้อจะเห็นว่าเขียน “รองรับ google assistant, amazon alexa”)
.
[7.] อุปกรณ์พื้นฐานสมาร์ทโฮมมีครบแล้ว ที่เหลือคือการเซ็ตติ้ง
-พอเรามีอุปกรณ์พื้นฐานของสมาร์ทโฮมตามข้อ 2 และมีเครื่องใช้ไฟฟ้า IoT มาเสริม และเข้าใช้บริการของ google home หรือ amazon alexa แล้ว เราจะทำอะไรๆพื้นฐานได้มากมายทั้งสั่งเปิด-ปิดผ่านแอพหรือด้วยเสียง สั่งให้เล่นเพลงด้วยเสียง
แต่งาน automation ในบ้านอาจต้องปรับเองตาม Life style และความเหมาะสม อยากเดินมาตรงนี้แล้วไฟติด อยากสั่งคำนี้คำเดียวแล้วอะไรทำงานบ้าง ก็ต้องตั้งเงื่อนไขกันเองซึ่งทำได้ในแอพและง่ายมากๆ (เงื่อนไขแค่เพียง If … then…)ไม่ต้องเขียน coding หรือเขียนโปรแกรมใดๆให้ยุ่งยาก
จุดนี้ถ้าเราไม่ศึกษาว่าตั้งค่ายังไง พอมีอะไรผิดหน่อยหรือจะเพิ่มอะไร เราอาจต้องเสียเงินเรียกช่างเรียกบริษัทที่ติดตั้งมาดูโดยใช่เหตุ
.
[8.] เลือกค่ายไหนดีมีมากมายเหลือเกิน
-สำหรับผู้เริ่มต้น เพจแนะนำให้เลือกค่าย Tuya ด้วยหลายเหตุผลทั้งราคาไม่แพง สินค้าหลากหลาย มี server ที่เร็วและเสถียร (ทำให้การสั่งงานต่างๆเร็วมาก) ตัวแอพก็สามารถสร้างคำสั่งและออโตเมชั่นพื้นฐานได้อย่างครอบคลุมและสร้างแบบซับซ้อนก็ได้
-แต่หากชอบความถูกและดี ผลิตภัณฑ์สวยงามก็คงเป็น Xiaomi แต่ต้องระวังเรื่องการซื้อสินค้าผิดเวอร์ชั่น หลีกเลี่ยงอุปกรณ์ wifi (เพราะไม่ค่อยเสถียร) ควรใช้ zigbee
-และหากเลือกไปทาง iOS คือสายมีอันจะกินซึ่งต้องมี Hub กลางบ้านและอุปกรณ์รองรับที่ราคาพอสมควรเลย แต่ทั้งความเสถียรและพลังในการตั้งค่าออโตเมชั่นก็สูงตามมาเช่นเดียวกัน
-ยังมีค่ายอีกมากมายเช่น Sonoff (eWeLink) ที่เหมาะกับคนที่จะต่อยอดไปทางตั้ง server ในบ้านในอนาคต
.
[9.] ใช้ค่ายเดียวดีที่สุด?
-ใช่ครับในเชิงการควบคุมการใช้งาน การใช้หลายค่ายอาจมีปัญหาการสั่งงานข้ามหากัน สื่อสารกันลำบาก (ยกเว้นแต่ว่าอนาคตอยากตั้ง server ในบ้านก็จะจบปัญหานี้ไป)
แต่ก็ไม่มีค่ายไหน perfect มีจุดอ่อนกันทั้งนั้นก็ต้องพึ่งอีกแบรนด์นึงมาเติมเต็ม ซึ่งถ้าให้แนะนำก็ควรมีค่ายตัวหลักและค่ายตัวเสริมรวมแล้ว 2 เจ้าก็น่าจะเพียงพอ เลือกตาม Life style ของเราเช่น ใช้ Tuya เป็นหลักในการควบคุมอุปกรณ์พื้นฐาน (สวิตช์ ปลั๊ก เซนเซอร์) และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า Xiaomi เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เครื่องฟอก เป็นต้น
.
[10.] จะสั่งด้วยเสียงต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ?
-ไม่ต้องครับ แค่มีมือถือและดาวน์โหลด google home/assistant หรือ amazon alexa เพียงเชื่อมต่อกับแอพค่ายผู้ให้บริการก็สามารถสั่งผ่านมือถือได้ด้วยเสียง หรือแม้แต่ siri แม้เป็นค่ายไม่รองรับ apple homekit ก็สั่งผ่าน siri shortcuts ได้
ส่วนพวก smart speaker เช่น nest mini, google home hub, echo dot เป็นลำโพงที่ซื้อมาวางที่บ้านเพื่อสร้างความสะดวกในการเรียกสั่งโดยไม่ต้องตามหามือถือ (มันสะดวกมากแนะนำให้ใช้ครับ)
.
[11.] เพจนี้ขายอะไร
-เพจนี้ไม่ได้ขายอะไรเลยครับ (ถามกันมาเยอะมากว่าร้านอยู่ไหน) ผมแค่อยากแชร์ประสบการณ์สมาร์ทโฮมที่ตัวผมเองก็เริ่มต้นจากไม่รู้อะไรเลย ปัญหาที่ผมเคยเสียเวลากับมันไปมากก็ไม่อยากให้ใครต้องไปเสียเวลากับมัน ทุกวันนี้ผมก็ไม่ได้เขียนโปรแกรมหรือ coding เป็น อุปกรณ์ก็ซื้อสำเร็จและไม่เน้นงานดัดแปลงมากนัก เน้นเพียงความถึกที่ถือคติว่าลงมือทำไปก่อนเดี๋ยวเราก็จะได้รู้อะไรเพิ่มเอง
ทุกวันนี้ก็ได้สมาร์ทโฮมในแบบของตัวเองที่ไม่ได้เลิศหรูอะไร แต่สร้างความสะดวกสบายให้คนในครอบครัวได้ผมก็โอเคแล้ว
หากทุกท่านมีคำถามอะไรนอกจากจะถามผมโดยตรงแล้วยังมีช่องทางที่เป็นกลุ่มถามตอบ “เบื้องหลังสมาร์ทโฮม-VRT” (http://www.facebook.com/groups/414485096343458/) ที่มีผู้รู้อีกหลายท่านพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้ครับ
.
และเราจะสมาร์ทโฮมไปด้วยกัน

.

ที่มาจากเพจเบื้องหลังสมาร์ทโฮม

[บทความพิเศษสำหรับผู้กำลังจะเริ่มสมาร์ทโฮม]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *